จบแล้วคดีดัง! ดราม่าขนมกล้วยเคล้าน้ำตา CP ALL ไม่ได้ก้อปงั้นหรือ?


นับเป็นคดีโด่งดังที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา สำหรับกรณีที่มีผู้กล่าวหาว่า ผลิตภัณฑ์เลอแปงบานาน่า ของบริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) ได้ลอกเลียนสูตรขนมของผู้ประกอบการรายย่อยรายหนึ่ง จนกลายเป็นข้อพิพาทระหว่างผู้เผยแพร่บทความ และบริษัทซีพีออลล์ นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายบนโลกออนไลน์

‘ปลาใหญ่กินปลาเล็ก’ คือสำนวนที่หลายคนใช้ในการวิพากษ์วิจารณ์กรณีดังกล่าว ก่อนที่ต่อมาจะพบว่า ข้อเท็จจริงไม่เป็นไปอย่างที่คิดไว้ เพราะในโลกออนไลน์ที่ทุกคนมีเสียงดังเท่ากัน อาจเป็นไปได้ที่เสียงเล็กๆ ของคนหนึ่งคนจะกลายเป็นอาวุธทรงพลัง ที่ทำลายชื่อเสียงของแบรนด์ใหญ่ๆ ระดับซีพีออลล์ได้เช่นกัน

ในวันที่ข้อเท็จจริงทุกอย่างดูจะกระจ่างชัดมากขึ้น THE STANDARD ขอพาคุณย้อนไปทบทวนประเด็นความขัดแย้งดังกล่าว เพื่อใช้เป็นกรณีศึกษา เมื่อเสียงจากผู้บริโภคอาจไม่ถูกต้องเสมอไป และแบรนด์ใหญ่ไม่จำเป็นต้องตกเป็นจำเลยทุกครั้ง

ย้อนคดีโตเกียวบานาน่าเมืองไทย จุดจบของนักโพสต์ข่าวลวง
เรื่องราวครั้งนี้เกิดขึ้นในปี 2558 เมื่อมีผู้โพสต์บทความ ‘โตเกียวบานาน่าไทยแบบมีกล้วอยู่จริงๆ ที่แลกมาด้วยน้ำตา’ ลงบนเว็บไซต์โอเคเนชั่น โดยกล่าวหาว่า บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือเป็นบริษัทใหญ่ แต่ไปรังแกผู้ประกอบการรายย่อยที่เสนอสินค้าเข้ามาขายในร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น ด้วยการลอกเลียนสูตรขนมสอดไส้ครีมคัสตาร์ดรสกล้วยของผู้ประกอบการรายนั้น ก่อนจะทำการค้าหาประโยชน์เอง

ความคิดเห็น