จากผู้สร้าง Summer Wars และ The Girls Who Leap Through
เมื่อปี 2009 ผมได้มีโอกาสรับชมแอนิเมชั่นเรื่องหนึ่งจากฝั่ง ญี่ปุ่น (ซึ่งขึ้นชื่ออยู่แล้วเรื่อง Animetion) แต่แอนิเมชั่นของญี่ปุ่นนั้นจริงๆ แล้วผมถือว่าแบ่งออกเป็นสองประเภท คือแบบ Series ซึ่งเป็นเรื่องยาวที่มักเป็นที่นิยมในหมู่เด็กๆและวัยรุ่น (ถึงเด็กโตๆด้วยนะครับ อิอิ) พูดง่ายๆคือการ์ตูนตลาดนั่นเอง เช่น นารูโตะ,One Piece,Bleach เทพมรณะ หรือที่ได้รับความนิยมช่วงนี้ก็คือ Sword Arts Online ซึ่งแอนิเมชั่นเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วจะมีการ Production มาจาก Manga ที่ฮิทๆ เมื่อติดตลาดจึงมาทำเป็น Anime ส่วนตัวผมไม่ค่อยชอบดูแบบนี้เท่าไหร่ เพราะเนื้อหาเหมือนกับแบบฉบับการ์ตูน และด้วยความที่บางเรื่องนิยมซะเหลือเกิน ก็ทำให้จบไม่ลง จนพาลยืดจนเนื้อเรื่องห่วยไปซะได้ จึงไม่แปลกที่ Animetion แบบ Walt Disney จะได้รับความนิยมมากกว่าจากชาวโลก และดูจะมีคุณค่าทางภาพยนตร์มากกว่าแต่ฝั่งญี่ปุ่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็มีการผลิต Animetion แบบตอนเดียวออกมาเรื่อยๆ ซึ่งแต่ละเรื่องต้องบอกว่าทำได้ดีและสุดยอดทุกเรื่องครับ (โดยเฉพาะงานของ Studio Ghibli)
ล่าสุดผู้ผลิต Animetion ยอดฮิตของปี 2009 หรือ Summer Wars ก็ได้ปล่อยผลงานเรื่องใหม่ออกมา ซึ่งผมบอกได้เลยว่าสุดยอดเหมือนเดิม ภาพที่สวย กับเนื้อเรื่องที่คมคาย (ภาพต้องบอกว่าสีสดสบายตามากครับ ค่ายนี้ ผมดู HD นี่ประทับใจมากๆ) ก็คือ Wolf Children นั่นเอง
เนื้อเรื่องย่อ Wolf Children
ฮานะ (พากย์โดย อาโออิ มิยาซากิ) นักศึกษาสาวได้ตกหลุมรัก "เขา" (พากย์โดย ทาคาโอะ โอซาวะ) ตั้งแต่ได้พบหน้า ภายหลังเธอพบว่าเขาดูเหมือนมนุษย์ก็จริง แต่จริงๆ แล้วเขาเป็น "มนุษย์หมาป่า" แต่มันก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงความรู้สึกที่เธอมีต่อเขาเลย พวกเขาย้ายไปอยู่ด้วยกัน และไม่นานทั้งคู่ก็มีลูก พวกเขาตั้งชื่อลูกสาวคนแรกว่า "ยูกิ" ที่แปลว่า "หิมะ" เพราะเธอลืมตาดูโลกในวันที่หิมะโปรยปราย และลูกคนที่สองซึ่งเป็นลูกชายพวกเขาตั้งชื่อว่า "อาเมะ" ที่แปลว่า "ฝน" เพราะเขาเกิดในวันที่ฝนตกยูกิ (พากย์โดย โมโมโกะ โอโนะ - ตอนเด็ก) เป็นเด็กหญิงซุกซน ช่างสงสัย ส่วน อาเมะ (พากย์โดย เอมอน คาเบะ - ตอนเด็ก) เป็นเด็กชายขี้อาย เปราะบาง พวกเขาดูเหมือนครอบครัวธรรมดาๆ แต่ลูกๆ ของพวกเขาเป็นทั้งมนุษย์และหมาป่า พวกเขาเป็น "เด็กหมาป่า" เพื่อปิดบังความจริงนี้ พวกเขาจึงใช้ชีวิตอยู่อย่างเรียบง่ายในย่านที่เงียบสงบของเมือง ชีวิตของพวกเขาเป็นไปอย่างสมถะแต่ก็มีความสุข แต่แล้ววันหนึ่งความสุขที่พวกเขาคิดว่าจะยืดยาวไปชั่วกาลนานก็ถูกพรากไปด้วยการเสียชีวิตของผู้เป็นพ่อ
ฮานะโศกเศร้าเสียใจ แต่เธอก็มุ่งมั่นที่จะเลี้ยงลูกๆ สองคนให้ดีที่สุด เธอตัดสินใจย้ายจากเมืองกรุง และพาเด็กๆ ไปยังชนบทที่ห้อมล้อมไปด้วยธรรมชาติที่ทารุณแต่ก็อุดมสมบูรณ์ เพื่อให้พวกเขาได้เลือกว่าจะเป็น "มนุษย์" หรือ "หมาป่า" ในอนาคต
ตัวอย่างภาพยนตร์ Wolf Children Trailer (With English Subtitle)
บทวิจารณ์ โดยคุณ A-Bellamy
อิทธิพลของตำนานเหล่านี้ถูกส่งตรงในรูปแบบนิทาน วรรณกรรม กระทั่งสู่แผ่นฟิล์ม เราถูกหล่อหลอมให้รู้จักมนุษย์หมาป่าในรูปแบบของความน่ากลัว ชั่วร้าย ทำร้ายความวัยเยาว์ของเราจนสูญสิ้น ปรากฏตัวในฐานะตัวร้ายของนิทานไม่ว่าจะเป็นหมาป่า หรือมนุษย์หมาป่าก็ตาม เราถูกปลูกฝังเช่นนั้นมาตลอด ภาพความทรงจำของเรากับคำว่า ‘มนุษย์หมาป่า’เป็นเสมือนสิ่งขัดแย้งแสนเลวที่มิอาจให้ตัวละครพานพบไปถึงจุดหมายปลายฝันได้
เมื่อเวลาล่วงเลย นิทานเช่นนี้ถูกเล่าแล้วเรื่อยไป โดยไม่มีใครนึกแคลงสงสัยว่าเพราะเหตุใด ‘หมาป่า’ จึงเป็นได้เพียงตัวร้ายในวรรณกรรมเท่านั้น จนกระทั่งผู้กำกับ มาโมรุ โฮโซดะ ได้สร้างนิทานของตัวเองขึ้นมา โดยลดทอนความทรงจำสามัญของผู้คน ตัวร้ายอย่างหมาป่ากลับกลายเป็นตัวละครหลักในอนิเมชั่นสุดน่ารักของสตูดิโอจิซุ(Chizu) ที่ร่วมสร้างกับบริษัททำอนิเมชั่น ‘แมดเฮ้าส์’(Madhouse) ที่มีผลงานจวบจนปัจจุบันเกินกว่า 100 เรื่อง ซึ่งหากเทียบศักดิ์ศรีแล้วก็ไม่ได้เหลื่อมล้ำไปกว่าสตูดิโอจิบลิเลย เกิดก่อนจิบลิด้วยซ้ำไป (แมดเฮาส์ 1972,จิบลิ 1985) เพียงแต่รายหลังนั้นเน้นไปที่การผลิตภาพยนตร์อย่างเดียว ชื่อเสียงจึงขจรขจายไปไกลถึงขั้นระดับโลก
กลับมาสู่ตัวเนื้อหาซึ่งใช้วิธีการเปิดเรื่องไม่ต่างจากนิทานปรัมปราโดยใช้เสียงบรรยายของลูกสาวคนโตยูกิ เล่าเรื่องตั้งแต่ตำนานของมนุษย์หมาป่าเรื่อยมายันเรื่องราวของครอบครัวชีวิตตนเอง ระหว่างแม่ฮานะ และพ่อโอคามิที่เป็นมนุษย์หมาป่า ก่อนที่จะรักและลงเอยด้วยการมีลูกสองคน แต่แล้วจุดเปลี่ยนของชีวิตก็เกิดขึ้น เพราะพ่อได้มาด่วนจากไปเสียก่อน ทำให้ฮานะต้องเผชิญหน้ากับการเลี้ยงดูลูกครึ่งมนุษย์หมาป่าโดยลำพัง โดยไม่มีแม้แต่ความรู้หรือประสบการณ์เลี้ยงดูมนุษย์หรือหมาป่าเลย
จุดหมายสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเน้นย้ำมุ่งประเด็นไปที่การเลี้ยงดูลูกทั้งสองของแม่ฮานะ ที่ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในอพาร์ทเม้นคับแคบของคนเมืองได้ เพราะนอกจากไม่มีที่ให้หมาป่าน้อยสองตัววิ่งเล่นแล้ว การเป็นมนุษย์หมาป่ายังเป็นความลับขั้นสุดยอดที่ไม่สามารถให้ใครล่วงรู้ นั่นจึงเป็นหมุดหมายใหญ่โตที่ทำให้เธอตัดสินใจหนีไปใช้ชีวิตในชนบทร้างราผู้คนอยู่กับผืนป่าที่สามารถทำเกษตรกรรมกินกันอย่างพอเพียง อีกทั้งมันยังเหมือนเป็นการหารากเหง้าของความเป็นมนุษย์หมาป่าที่เธอพยายามค้นหาเพื่อจะใช้เป็นเครื่องมือในการเลี้ยงดูลูกของเธออีกด้วย
นอกจากการใช้ชีวิตเรียบง่ายที่เป็นดังเครื่องหมายการค้าของภาพยนตร์ญี่ปุ่นที่ส่งสู่สายตาชาวโลกแล้ว การเล่นกับความคิดเรื่องมนุษย์หมาป่าที่เป็นภาพจำความชั่วร้ายคนทั่วไปของ มาโมรุ โฮโซดะ ก็น่าสนใจ เพราะหนังเรื่องนี้พยายามยั่วล้อและให้หันมามองความเป็นมนุษย์หมาป่าในแง่มุมที่น่ารักและแฝงความน่าสงสารไว้ เหมือนเช่น ที่อาเมะ ถามแม่ว่า ”หมาป่าต้องเป็นตัวร้ายตลอดเลยหรอ” นี่จึงเป็นคำถามน่าคิด ซึ่งเป็นไปได้ ว่าออกมาจากความคิดของ โฮโซดะ เองที่เป็นผู้คิดเรื่องและเขียนบทฯควบอีกด้วย
ถ้าโครงเรื่องหลักคือการเลี้ยงลูกทั้งสองให้ดีของฮานะ โครงเรื่องย่อยคงเป็นการก้าวผ่านเติบโตของลูกทั้งสองในสภาพที่เขารู้ว่าหมาป่าครึ่งหนึ่งที่อยู่ในตัวเขานั้นเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของด้านมืดที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคน(ทุกครั้งที่โกรธจะกลายเป็นหมาป่า) หรือจะเป็นปมด้อยของพวกเขาก็ว่าได้ ภาพยนตร์พยายามแสดงให้เห็นเห็นถึงคุณค่าของการยอมรับตัวตนตนเองในการเป็นเช่นนั้น ไม่ว่าสิ่งที่เราเป็นนั้นมันจะขัดขืนฝืนใจของภาพจำของคนทั่วโลกเท่าไหร่ก็ตาม ดังเช่นความชั่วช้าสามานย์ของหมาป่า
แต่ก็ไม่ได้วนเวียนอยู่ในประเด็นนี้ตลอดเวลาเพราะสิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องก็คือ การเลือกที่จะเป็นของคนรุ่นลูก แม้มันจะต้องขัดกับความรู้สึกผู้เป็นแม่ก็ตาม ซึ่งประเด็นนี้มีความเป็นสมัยใหม่อยู่ค่อนข้างมากๆ หรือจะว่าไปแล้วเทียบเท่าแนวคิดตะวันตกเลยด้วยซ้ำ ซึ่งนี่เป็นปัญหาของแม่ที่จะก้าวข้ามผ่านไปในตอนจบ แม้หนังจะได้ปูพรมให้คำตอบนี้ไว้แล้วในฉากตั้งแต่พ่อยังอยู่ก็ตาม ด้วยคำพูดที่ว่า “ลูกเราจะโตเป็นอะไรก็ได้ อยู่ที่เขาเลือกเอง” น่าเสียดายที่แม่คิดไม่ถึงว่า ถ้าลูกเราอยากเป็นหมาป่าแล้วล่ะก็จะทำเช่นไร จะยอมปล่อยให้เขาไปใช่หรือไม่
ทั้งหมดนี้จึงแสดงให้เห็นว่าภาพยนตร์ Wolf Children ได้สร้างเอกลักษณ์ในการต้านขนบความคิดภาพจำของคำว่า ‘หมาป่า’ ขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นเสมือนสัญลักษณ์ความชั่วร้ายที่ถูกใส่เข้ามาในตัวมนุษย์ เพื่อเป็นการทดสอบตัวละครหลักในเรื่องทั้งสามคนว่าสามารถก้าวผ่านจุดมืดบอดในสายตาของผู้คนทั่วไปได้หรือไม่ อีกทั้งความเป็นหมาป่าที่อยู่ในตัว ยังเป็นเสมือน ‘ปมด้อย’ ในใจของ อาเมะและยูกิ ที่ต้องก้าวพ้นไปให้ได้เมื่อยามเติบโต ซึ่งจะเห็นว่าทั้งสองทำสำเร็จแล้วเมื่อเครดิตลอยขึ้นมา
เสียงเห่าหอนของหมาป่าในค่ำคืนวันเพ็ญที่แสนชวนหลอกหลอนของเด็กๆทั่วทุกมุมโลก แต่กลับเป็นเสียงที่แสนสดใสในโสตประสาทของผู้เป็นแม่ ในชนบทอันห่างไกลผู้คนของประเทศญี่ปุ่น แม้ทั้งสามจะไม่ได้อยู่ร่วมกันเพราะลูกทั้งสองต่างเลือกในสิ่งที่ตัวเองต้องเป็น แม้ตอนสุดท้ายแม่จะไม่ได้เลือกอะไร เพียงแต่ยอมรับในสิ่งที่ลูกๆ เลือก เพราะเธอได้ใช้สิทธิ์เลือกในการคบหาดูใจกับมนุษย์หมาป่าตั้งแต่ต้นเรื่องไปแล้วนั่นเอง และนี่อาจเรียกว่าเป็นจุดเลือกแรกที่เกิดเป็นวงจรของลูกๆด้วยซ้ำ
และแม้นว่าในตอนสุดท้ายนิทานเรื่องนี้จะไม่ได้จบด้วยการอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา ดั่งนิทานปรัมปราตะวันตก แต่สิ่งหนึ่งที่นิทานเรื่องนี้มี คือการยอมรับในชะตากรรม และเรียนรู้ผ่านพ้นสิ่งที่อัดอั้นคั่งค้างในใจ ไม่ปล่อยให้กลายเป็นปมไม่ว่าจะเป็นปมอะไรก็ตาม และตามความเชื่อฝรั่ง มนุษย์หมาป่า เป็นตัวแทนของพฤติกรรมแฝงด้านมืดที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคน ดังที่เกิดขึ้นกับอาเมะกับยูกิ แต่เขาทั้งสองได้เลือกที่จะยอมรับด้านมืดของตัวเอง ไม่ว่าด้านมืดเหล่านั้นจะเป็นสิ่งชั่ว
ต่อให้ทุกคนเกลียดมนุษย์หมาป่าเท่าไร แต่หารู้ไม่ว่า บางทีมนุษย์หมาป่าอาจคือตัวเราเอง โดยไม่ต้องรอคืนวันเพ็ญด้วยซ้ำไป
คะแนน 7.75/10
เกรด B+
ชมได้ที่ภาพยนตร์เครือ Apex
ตามสไตล์กับหนังดี แต่ไม่ไช่หนังตลาด ก็ยากที่จะมีค่ายใหญ่ๆ ซื้อมาครับ พวก Major ,SF ไม่ค่อยจะสนใจแนวนี้อยู่แล้ว เพราะอาจจะทำเงินไม่ได้ถล่มทลาย แต่อย่างน้อยเราก็มี เครือ Apex ที่คอยนำ Animetion ดีๆเข้ามาฉายอยู่เนืองๆ สำหรับผู้ที่สนใจ และชอบ
เช่นกันกับ Wolf Children ที่ใครสนใจก็สามารถไปตรวจสอบเวลาฉายได้ที่
http://www.apexsiam-square.com/
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น